Makarios III; Mouskos, Michael Khristodolou (1913-1977)

อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓, ไมเคิล ครีสตอดอลู โมสคอส (๒๔๕๖-๒๕๒๐)

​​     ​​มาคารีออสที่ ๓ (ในภาษากรีกออกเสียงว่ามาคาร์ยอส) เป็นนักบวชชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐไซปรัสหลังจากไซปรัสประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ เขามีสมณศักดิ์เป็นอาร์ชบิชอปและประมุขของคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ในไซปรัส อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีซจนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รู้จักกันทั่วไปว่า "อีโนซีส" (Enosis) ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ หลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๓ เขาพยายามแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกกับชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กที่เป็นชนกลุ่มน้อย

ในประเทศด้วยการยกเลิกนโยบายอีโนซีสกองรักษาการแห่งชาติไซปรัส (Cypriot National Guard) ซึ่งสนับสนุนการรวมตัวกับกรีซจึงก่อการปฏิวัติล้มอำนาจการปกครองของมาคารีออสที่ ๓ ในช่วงเวลาเดียวกันตุรกีก็เห็นเป็นโอกาสเข้าแทรกแซงโดยยกพลขึ้นบกที่เกาะไซปรัสและนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างตุรกีกับไซปรัสและการแบ่งแยกไซปรัสออกเป็น ๒ เขตการปกครอง
     อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ มีชื่อเดิมว่าไมเคิลครีสตอดอลู โมสคอส (Michael Khristodolou Mouskos) เกิดในครอบครัวคนเลี้ยงแกะที่ยากจน เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ณ หมู่บ้านพาโน พานาเยีย (Pano Panayia) จังหวัดพาฟอส (Paphos) บนเกาะไซปรัส ในวัยเยาว์เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในท้องทุ่งช่วยครอบครัวเลี้ยงแกะ มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็กส่วนบิดาซึ่งเคร่งศาสนาต้องการให้เขาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่โมสคอสซึ่งต้องการเป็นนักบวชจึงหนีไปบวชเณรในขณะมีอายุ ๑๓ ปีเขาเข้าโรงเรียนสอนศาสนาที่เมืองนิโคเซีย (Nicosia) และต่อมาเข้าศึกษาต่อวิชาด้านกฎหมายและวิชาเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยเอเธนส์จนสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๔๒ และใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้ออกบวชโดยมีฉายาว่า "มาคารีออส" ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อด้านเทววิทยาที่ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เขาตั้งใจจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกาต่ออีก ๓ ปีหลังสำเร็จการศึกษา แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ มาคารีออสก็ถูกเรียกตัวกลับไซปรัสและได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งคีทัน (Kition) อีก ๒ ปีต่อมาเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งไซปรัสในขณะที่มีอายุได้เพียง ๓๗ ปีเท่านั้น โดยมีฉายาว่ามาคารีออสที่ ๓ ซึ่งนับว่าเขาเป็นอาร์ชบิชอปที่มีอายุ น้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา
     การดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งไซปรัสทำให้อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ได้เป็นผู้นำของชุมชนชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกที่เรียกว่า "เอทนาร์ช" (Ethnarch) ตำแหน่งดังกล่าวทำให้เขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไซปรัส ในทศวรรษ ๑๙๕๐ มาคารีออสที่ ๓ สวมบทบาททั้งอาร์ชบิชอปและเอทนาร์ชได้อย่างเหมาะสมจนกลายเป็นที่ชื่นชมยอมรับของชาวไซปรัสเชื้อสายกรีก ในเวลาอันสั้นเขาก็เป็นผู้นำของขบวนการอีโนซีสในการเรียกร้องให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีซ ทั้งนี้โดยชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกได้เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อังกฤษเข้าปกครองไซปรัสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อจะรวมตัวกับกรีซใน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* มีการลงประชามติในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งผลปรากฏว่าชาวไซปรัสร้อยละ ๙๕.๗ ต้องการรวมตัวกับกรีซ แต่อังกฤษปฏิเสธเพราะยังคงต้องการใช้ไซปรัสเป็นที่ตั้งของฐานทัพในการควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิภาคตะวันออกกลางและแหล่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย ส่วนกรีซซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียกร้องของชาวไซปรัสก็พยายามไม่แสดงท่าทีของตนอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขัดแย้งกับอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตร อย่างไรก็ตาม บทบาทของมาคารีออสที่ ๓ ในขบวนการอีโนซีสได้มีส่วนทำให้กรีซสนับสนุนเขาและนำปัญหาไซปรัสให้ที่ ประชุมองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* พิจารณาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ โดยเรียกร้องให้ไซปรัสสามารถเลือกกำหนดการตัดสินใจด้วยตนเองในการลงประชามติเรื่องการรวมตัวกับกรีซ แต่ตุรกีซึ่งเคยปกครองไซปรัสมาก่อนเมื่อครั้งที่ยังเป็นจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ก็เรียกร้องว่าหากอังกฤษถอนตัวออกจากการปกครองไซปรัชแล้วไซปรัสควรรวมกับตุรกีมากกว่ากรีซ
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ชาวไซปรัสชาตินิยมได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินที่ ชื่อว่าองค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติหรืออีโอคา (Ethniki Organosis Kypriakon Agoniston - EOKA) ขึ้นเพื่อสนับสนุนขบวนการอีโนซีสต่อต้านการปกครองของอังกฤษ แม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่าอาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ เห็นด้วยกับแนวทางการใช้ความรุนแรงขององค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติ ทั้งเขายังสนิทกับเยออร์ยีออส กรีวาส (Georgios Grivas) นายทหารและนักการเมืองชาวกรีกที่เป็นผู้นำขององค์การ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและประเด็นการสนับสนุนของมาคารีออสที่ ๓ ก็ยังคงเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ตามในบั้นปลายชีวิต มาคารีออสที่ ๓ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการรุนแรงขององค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติ
     การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษด้วยวิธีการรุนแรงขององค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติทำให้อังกฤษประกาศให้ไซปรัสเป็นเขตวิกฤติและหาทางแก้ไขด้วยการเปิดการเจรจากับอาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ แต่การเจรจาไม่บรรลุข้อตกลงใด ๆ สื่อมวลชนอังกฤษวิพากษ์โจมตีมาคารีออสที่ ๓ ว่าเป็นผู้นำศาสนาเจ้าเล่ห์ที่ไม่อาจไว้วางใจได้ ส่วน รัฐบาลอังกฤษก็หวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นในความเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมของมาคารีออสที่ ๓ ดังนั้นอังกฤษจึงเนรเทศเขาไปยังหมู่เกาะเซเชลส์ (Seychelles) ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ การถูกเนรเทศของมาคารีออสที่ ๓ ดังกล่าวได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเลวร้ายลงอีกและองค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติก็เคลื่อนไหวต่อต้านและก่อการร้ายด้วยวิธีรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านขบวนการอีโนซีส โดยเรียกร้องให้ไซปรัสอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษต่อไปหรือมิฉะนั้นก็ให้รวมตัวเข้ากับตุรกี ปัญหาไซปรัสจึงกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในระหว่างชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกกับชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ได้รับการปล่อยตัวแต่ถูกห้ามไม่ให้กลับเข้าไซปรัส เขาเดินทางไปอยู่ที่กรุงเอเธนส์และเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของไซปรัส ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๘ อังกฤษ ตุรกี และกรีซเปิดการเจรจาเพื่อหาทางตกลงเกี่ยวกับปัญหาไซปรัสที่เมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงซูริก (Zurich Agreement) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๘ โดยจัดตั้งไซปรัสเป็นสาธารณรัฐเอกราชและไม่ให้มีการแบ่งแยกประเทศหรือรวมตัวเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยอังกฤษ ตุรกี และกรีซยินยอมตกลงที่จะค้ำประกันเอกราชและรัฐธรรมนูญของไซปรัสที่กำหนดสิทธิทางการเมืองของชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกและเชื้อสายเติร์ก ทั้งนี้อังกฤษยังคงมีอำนาจควบคุมฐานทัพ ๒ แห่งทางตอนใต้ของไซปรัสเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)* มาคารีออสที่ ๓ ได้รับเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้ไปยังกรุงลอนดอนในต้น ค.ศ. ๑๙๕๙ เพื่อร่วมพิจารณาข้อตกลงซูริกก่อนที่จะมีการให้สัตยาบัน เขาเห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว และในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ มาคารีออสที่ ๓ ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังไซปรัสและเขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวไซปรัสเชื้อสายกรีก ต่อมาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ มาคารีออสที่ ๓ ก็มีชัยชนะอย่างท่วมท้นและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ฟาเซิล คูชุก (Fazil Kuchuk) ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กซึ่งเป็นพันธมิตรของเขาเป็นรองประธานาธิบดี การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิทางการเมืองระหว่างชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกกับเชื้อสายเติร์กตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
     อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ไซปรัสประกาศเอกราชเขาดำเนินนโยบายสายกลางในการบริหารปกครอง ประเทศและพยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกรีซกับตุรกี รวมทั้งดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-alignment) ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เขายังร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) ยูโกสลาเวีย และมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสมาชิกประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดไม่ให้สนับสนุนนโยบายของชาติมหาอำนาจตะวันตกในความขัดแย้งทางการเมืองของสงครามเย็น (Cold War)* บทบาทดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่าเขามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ ในเวลาต่อมามาคารีออสที่ ๓ จึงได้รับสมญานามจากชาติตะวันตกว่า "อาร์ชบิชอป คอมมิวนิสต์" (Red Archbishop) และ "คัสโตรแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน" (Castro of the Mediterranean) เนื่องจากเขาสนับสนุนแนวทางสังคมนิยมและดำเนินนโยบายทางการเมืองคล้ายคลึงกับประธานาธิบดีฟิเดลคัสโตร (Fidel Castro) แห่งคิวบา นอกจากนี้ มาคารีออสที่ ๓ ยังสนิทสนมกับยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวียด้วย
     ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๓ อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ในฐานะประธานาธิบดีเสนอให้แก้ไขมาตราที่ ๑๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๖๐ ที่ให้อำนาจและสิทธิแก่ชาวเติร์กซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมากเกินไป โดยยกเลิกข้อกำหนดทางเชื้อชาติในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม ด้วยเหตุนี้ ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กจึงต่อต้านอย่างมากเพราะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทำให้ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกมีบทบาททางการเมืองและสังคมมาก รองประธานาธิบดีคูชุกก็ต่อต้านด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กก็เริ่มอพยพออกจากหมู่บ้านและเมืองซึ่งมีพลเมือง ๒ เชื้อสายอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยอ้างว่าถูกชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกข่มขู่คุกคามความขัดแย้งระหว่างประชาชนเชื้อสายกรีกกับเชื้อสายเติร์กดังกล่าวจึงขยายตัวและกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด ในช่วงเวลาเดียวกัน กรีซและตุรกีก็เข้าแทรกแซงเพื่อแบ่งดินแดนไซปรัสซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อตกลงซูริก ค.ศ. ๑๙๕๘ รัฐบาลอังกฤษจึงส่งกองทหารเข้าไปรักษาความสงบและพยายามเจรจาไกล่เกลี่ย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติไปรักษาความสงบภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งมีส่วนทำให้การต่อสู้ระหว่างชาวไซปรัสทั้ง ๒ เชื้อชาติยุติลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ ในปีเดียวกันนี้ไซปรัสก็ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและเป็นสมาชิกในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)*
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี เขาก็ได้รับการต่อวาระประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ ๒ จนถึง ค.ศ. ๑๙๖๘ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๘ มาคารีออสที่ ๓ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ ๓ ในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้ เขาปรับนโยบายการปกครองใหม่ด้วยการดำเนินนโยบายมุ่งรักษาความเป็นเอกราชของไซปรัส และยกเลิกนโยบายอีโนซีสที่จะให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีซ แม้นโยบายใหม่ของมาคารีออสที่ ๓ จะทำให้ชาวไซปรัสชาตินิยมพอใจแต่ก็สร้างความขุ่นเคืองและต่อต้านอย่างมากจากฝ่ายที่สนับสนุนให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีซ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๒ มาคารีออสที่ ๓ ถูกกดดันจากรัฐบาลทหารกรีกในกรีซซึ่งโค่นล้มอำนาจพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๒ (Constantine II ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๖๗)* ลงได้สำเร็จเรียกร้องให้เขาสนับสนุนนโยบายการรวมตัวกับกรีซ ส่วนศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ไซปรัสก็ข่มขู่ที่จะถอดถอนตำแหน่งอาร์ชบิชอปหากเขาไม่สนับสนุนขบวนการอีโนซีส มาคารีออสที่ ๓ ปฏิเสธที่ จะปฏิบัติตาม กองรักษาการณ์แห่งชาติและกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารกรีกนอกประเทศจึงก่อรัฐประหารล้มอำนาจการปกครองของมาคารีออสที่ ๓ โดยบุกโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ มาคารีออสที่ ๓ ต้องหนีออกนอกประเทศไปยังมอลตา (Malta) และกรุงลอนดอนตามลำดับ ฝ่ายกบฏได้สนับสนุนนิโคส แซมป์สัน (Nikos Sampson) นายทหารกรีกซึ่งเคยเป็นสมาชิกองค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีแซมป์สันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วเวลาอันสั้นเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในกรีซซึ่งทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจประธานาธิบดีแซมป์สันจึงต้องลาออกและกลาฟคอส เคลริดีส (Glafkos Klerides) ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เข้ารักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่
     ในช่วงที่เกิดรัฐประหารโค่นอำนาจอาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ตุรกีได้ยกพลขึ้นบกที่ไซปรัสโดยอ้างข้อตกลงที่ซูริกในการค้ำประกันไม่ให้ไซปรัสรวมตัวเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งและเพื่อรักษาความสงบ เรียบร้อยภายใน แต่ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกเห็นว่าการแทรกแซงของตุรกีมีจุดมุ่งหมายจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กในการแยกตัวจาก ไซปรัสและยังเป็นการวางฐานอำนาจของตุรกีในการจะเข้าควบคุมไซปรัสในวันข้างหน้า ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกจึงต่อต้านกองทัพเติร์กซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง กองทัพเติร์กสามารถยึดครองดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซปรัสได้ถึงร้อยละ ๔๐ มาคารีออสที่ ๓ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่กรุงลอนดอนพยายามเคลื่อนไหวคัดค้านการแบ่งแยกดินแดนไซปรัสและเรียกร้องให้นานาประเทศยอมรับว่าเขาเป็นผู้นำประเทศที่ชอบธรรมของไซปรัส ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการขานรับและในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ มาคารีออสที่ ๓ ก็เดินทางกลับไซปรัสและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง เขาพยายามสร้างเอกภาพภายในและเรียกร้องให้ตุรกีคืนดินแดนไซปรัสที่กองทัพเติร์กยึดครอง แต่ล้มเหลว ขณะเดียวกัน ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กก็ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของเขา และต่อมาก็ได้ประกาศจัดตั้งดินแดนในความยึดครองของกองทัพเติร์กเป็นรัฐอิสระ [ต่อมาในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๓ ได้จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐอิสระเรียกว่า สาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ (Turkish Republic of Northern Cyprus) แต่องค์การสหประชาชาติไม่ให้การรับรอง] การประกาศแยกดินแดนดังกล่าวทำให้ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกจำนวนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนต้องอพยพออกจากเขตยึดครอง
     แม้วิกฤตการณ์ไซปรัสจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ แต่องค์การสหประชาชาติก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและหาข้อยุติลงได้อย่างเด็ดขาด ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ชาวไซปรัสเชื้อสายเติร์กได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งประธานาธิบดีในเขตยึดครองของตนเอง และราอูฟ เดนก์ตัช (Rauf Denktash) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๗ อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาการเมืองภายในอย่างสันติวิธีด้วยการเปิดการเจรจากับประธานาธิบดีเดนก์ตัชเพื่อหาแนวทางในการจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐแบบทวิภาค (bicommunal federal republic)
     อย่างไรก็ดี ความพยายามของอาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓ ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ เพราะเขาถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการหัวใจวายอย่างกะทันหันโดยไม่ มี ใครคาดคิดมาก่อนเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๗ ขณะอายุได้ ๖๔ ปี ศพของเขาถูกนำไปฝังไว้ในบริเวณภูเขาใกล้กับโบสถ์คีกโค (Kykko) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตเมื่อครั้งเป็นเณรและนักบวชในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐-๑๙๓๐ ส่วนรัฐบาลสาธารณรัฐไซปรัสก็ได้สร้างอนุสาวรีย์ประติมากรรมรูปเหมือนเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาไว้หน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงนิโคเซียเมืองหลวงของประเทศด้วย.



คำตั้ง
Makarios III; Mouskos, Michael Khristodolou
คำเทียบ
อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓, ไมเคิล ครีสตอดอลู โมสคอส
คำสำคัญ
- สงครามเย็น
- เคลริดีส, กลาฟคอส
- คอนสแตนตินที่ ๒, พระเจ้า
- บิชอปแห่งคีทัน
- เบลเกรด, กรุง
- นิโคเซีย, เมือง
- พาฟอส, จังหวัด
- มาคารีออสที่ ๓
- อีโนซีส
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เอทนาร์ช
- โมสคอส, ไมเคิล ครีสตอดอลู
- ข้อตกลงซูริก
- กรีวาส, เยออร์ยีออส
- เซเชลส์, หมู่เกาะ
- องค์การนักต่อสู้ชาวไซปรัสแห่งชาติหรืออีโอคา
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- เครือจักรภพ
- องค์การสหประชาชาติ
- คูชุก, ฟาเซิล
- ตีโต
- นโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
- บรอซ, ยอซีป หรือตีโต
- แซมป์สัน, นิโคส
- เดนก์ตัช, ราอูฟ
- ตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ, สาธารณรัฐ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1913-1977
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๕๖-๒๕๒๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf